อาการตกขาว ผิดปกติของผู้หญิง

อาการตกขาว เป็นของเหลวที่ร่างกายผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยทำความสะอาด ชุ่มชื้น และป้องกันช่องคลอดจากการติดเชื้อต่างๆ อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงทุกคนควรสังเกตสีของ อาการตกขาว เป็นอย่างมาก เนื่องจากสีของ อาการตกขาว สามารถบ่งบอกถึงการผิดปกติของร่างกายได้ โดยปกติแล้ว สีของการตกขาวจะเป็นสีขาว ใส หรือเล็กน้อยที่มีความขุ่นอาจเกิดจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกาย ความสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด การติดเชื้อหรือผิดปกติบางอย่างในร่างกาย ด้วยเหตุนี้ การเฝ้าระวังสีและลักษณะการตกขาวเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากและหากมีการเปลี่ยนแปลงหรือผิดปกติใดๆ จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาให้เหมาะสม

อาการตกขาว ผิดปกติของผู้หญิง

อาการตกขาว ที่ผิดปกติมีสีอะไรบ้าง

สีของ อาการตกขาว ที่ผิดปกติสามารถแบ่งออกเป็นหลายสี ได้แก่

  • ตกขาวสีขาว ครีม เหลืองอ่อน หรือสีเหมือนเปลือกไข่
    • หากพบว่ามีตกขาวสีขาวใส หรือสีขาวขุ่น ไม่มีกลิ่น ถือเป็นลักษณะทั่วไปของตกขาวที่หลั่งออกมาเพื่อหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นกับช่องคลอดไม่ได้เป็นอาการที่ผิดปกติแต่อย่างใด แต่ตกขาวที่ผิดปกติ จะมีสีที่แตกต่างไปจากเดิมที่คุณเคยเจอ ที่สำคัญ ตกขาวจะมีกลิ่นเหม็น และมีลักษณะเป็นก้อนหนาๆ
  • ตกขาวสีเขียวอ่อน หรือเหลืองปนเขียว
    • หากพบว่ามีตกขาวสีนี้ ร่วมกับรู้สึกระคายเคืองบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย ตกขาวจะมีกลิ่นคาว แสดงว่าอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย จากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้ป้องกัน
  • ตกขาวสีชมพูอ่อน
    • อาจหมายถึงว่ากำลังจะเริ่มเป็นประจำเดือน หรือมีการหลุดลอกของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งพบในกรณีที่เป็นคุณแม่หลังคลอดบุตร เรียกง่ายๆ ว่า น้ำคาวปลา คือ ของเหลวที่ขับออกผ่านทางช่องคลอด มีกลิ่นเหม็นอับ และอาจมีสีที่แตกต่างกันนับจากวันที่คลอดบุตร โดยอาการนี้ จะคงอยู่ในช่วงระยะเวลา 2-3 สัปดาห์ และหมดไปได้เองภายใน 4-6 สัปดาห์
  • ตกขาวสีน้ำตาลแดง หรือสีแดง
    • หากพบว่าตกขาวมีสีคล้ายเลือดปะปนออกมา อาจหมายถึงประจำเดือนที่ยังตกค้างอยู่ หรือมีการติดเชื้อที่ปากมดลูก เนื่องจากเลือดออกจากการตกไข่ อาจมีอาการปวดท้องน้อยร่วมด้วย
  • ตกขาวสีเทา
    • อาจหมายถึง การอักเสบที่บริเวณช่องคลอด และปากมดลูก จากเชื้อแบคทีเรียผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือเป็นสัญญาณของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเฉพาะอาการร่วมอย่าง รู้สึกคัน ระคายเคืองช่องคลอด มีกลิ่นเหม็น มีรอยแดงที่ปากช่องคลอด เป็นต้น

หากผู้หญิงมีตกขาวที่มีสีผิดปกติและมีกลิ่นเหม็น อาจเป็นเชื้อแบคทีเรีย หรือย่อมว่าเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ดังนั้นควรรีบพบแพทย์เพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดโรคหรือภาวะที่อันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิงในอนาคต

อาการตกขาว ที่ผิดปกติส่งผลเสียอย่างไร

อาการตกขาว ที่ผิดปกติส่วนใหญ่จะหมายถึงการติดเชื้อในช่องคลอด โดยโรคที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่

โรคเชื้อราในช่องคลอด

การติดเชื้อเยื่อบุช่องคลอดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ CANDIDA ALBICANS แต่บางบุคคลอาจเกิดจากเชื้อราชนิดอื่นได้ มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจส่งผลต่อการติดเชื้อเช่นโรคเบาหวาน, การใช้ยาปฎิชีวนะเป็นเวลานาน, การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้นหรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนจากภายนอก เช่นการใช้ยาคุมกำเนิด, ภาวะตั้งครรภ์, ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นการติดเชื้อเอชไอวี และการได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน อาการของโรครวมถึงการตกขาวที่มีลักษณะเหมือนแป้งเปียก, มีอาการคันบริเวณปากช่องคลอด, หรือมีอาการแสบร้อนในช่องคลอด, ปัสสาวะแสบขัด, เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ การวินิจฉัยโรคจะต้องพบการบวมแดงบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด สำหรับการรักษาใช้ยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีรูปแบบต่าง ๆ เช่นยาครีม, ยาเหน็บช่องคลอด และยากลืน เช่น Clotrimazole, Miconazole, Tioconazole, Fluconazole ตามคำแนะนำของแพทย์ การรักษาจะช่วยให้ร่างกายหายจากอาการและการติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ

โรคติดเชื้อทริโคโมแนส

เชื้อโปรโตซัว TRICHOMONAS VAGINALIS (TV) เป็นสาเหตุของโรคนี้ซึ่งมักติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์ อาการของโรครวมถึงตกขาวที่มีสีเขียวและมีกลิ่นเหม็น ความเจ็บปวดและคันบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด ปัสสาวะแสบขัด อาการเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์หรือเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ มักมีการอักเสบและบวมแดงบริเวณปากช่องคลอดและช่องคลอด พบจุดเลือดออกบริเวณช่องคลอดและปากมดลูกที่มีลักษณะเรียกว่า “Strawberry cervix” แนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น Metronidazole, Tinidazole พร้อมรับการรักษาคู่นอนด้วย

โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

เป็นลักษณะอาการอักเสบในช่องคลอดของผู้หญิง เกิดจากความไม่สมดุลของแบคทีเรียภายในช่องคลอด อาจทำให้เกิดอาการระคายเคือง คัน และมี อาการตกขาว ที่ผิดปกติดังกล่าวไปข้างต้น พบมากในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 15-50 ปี มีอาการเด่นๆ ให้สังเกตเห็นได้ดังต่อไปนี้

  • ตกขาวสีเทา สีเขียว หรือสีขาวที่เป็นฟองหรือแผ่น
  • คัน และระคายเคืองบริเวณช่องคลอด
  • รู้สึกแสบร้อนเวลาปัสสาวะ
  • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็นคาวปลา และเหม็นรุนแรงขึ้นหลังมีเซ็กส์

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ

ในช่องคลอดมักจะมีแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ที่อยู่รวมกัน เช่นแลคโตบาซิลัส (Lactobacillus) และแอนแอโรบส์ (Anaerobes) โดยทั่วไปแล้ว แบคทีเรียชนิดดีจะช่วยรักษาสมดุลในช่องคลอด แต่ถ้ามีแบคทีเรียชนิดไม่ดีมากเกินไปจะทำให้สมดุลของแบคทีเรียภายในช่องคลอดเสียและเกิดภาวะ Bacterial Vaginosis ได้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจทำให้เกิดภาวะ Bacterial Vaginosis ได้ เช่นการสูบบุหรี่ การสวนล้างช่องคลอด การใส่ห่วงคุมกำเนิด โดยเฉพาะในสตรีที่มีประจำเดือนกะปริดกะปรอยร่วมด้วย การตั้งครรภ์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิด Bacterial Vaginosis มากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์ การร่วมเพศกับคู่นอนหลายคนหรือเปลี่ยนคู่นอนใหม่ และการไม่สวมถุงยางอนามัยหรือไม่ใช้แผ่นยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีอาการผิดปกติของช่องคลอด ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

การตรวจวินิจฉัยโรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

สำหรับการตรวจช่องคลอดอักเสบนั้น แพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพของผู้ป่วยและทำการตรวจด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งก่อนทำการตรวจไม่ควรทำความสะอาดบริเวณช่องคลอด หรือเช็ดล้าง เนื่องจากตกขาวที่มีหรือกลิ่นอันไม่พึงประสงค์อาจหายไปในตอนที่ตรวจ ทำให้การวินิจฉัยของแพทย์ไม่แม่นยำ วิธีการตรวจ ได้แก่

  • การตรวจภายใน : โดยการสังเกตบริเวณโดยรอบช่องคลอด ตรวจกลิ่นไม่พึงประสงค์ ตรวจว่ามีตกขาวผิดปกติหรือไม่ อาจมีการนำตัวอย่างของตกขาวที่เก็บได้ภายในช่องคลอด ออกมาตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อให้ทราบว่าเป็นภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียจริงหรือไม่ โดยแพทย์อาจใช้มือข้างหนึ่งตรวจในช่องคลอด และใช้มืออีกข้างกดบริเวณหน้าท้อง หรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์ตรวจดูภายในช่องคลอด เพื่อตรวจอวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกราน และหาสัญญาณของการติดเชื้อภายในช่องคลอด
  • การตรวจวัดค่า pH วิธีนี้จะใช้ตรวจสอบความเป็นกรดภายในช่องคลอด โดยระดับค่า pH ที่ 4.5 หรือมากกว่า จะถือเป็นสัญญาณของภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

การรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

เนื่องจากอาการเหล่านี้สามารถหายไปได้เอง หากผู้ป่วยไม่มีอาการใดๆ ที่เป็นปัญหา และไม่ได้ตั้งครรภ์ก็อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่หากมีผลกระทบในการใช้ชีวิตหรือมีอาการป่วย การรักษาจะทำได้โดย การใช้ยาปฏิชีวนะ ได้แก่

  • ยา Metronidazole (เมโทรนิดาโซล)
    • คือ ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อโปรโตโซเวียในระบบทางเดินอาหารและอวัยวะสืบพันธุ์หญิง เช่น เชื้อแทรกซ้อนในช่องคลอด โรคแทรกซ้อนหลังผ่าตัด เป็นต้น โดยมักจะใช้ร่วมกับยาอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ยาชนิดนี้มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น Flagyl, Metrogyl, และ Protostat ซึ่งจะต้องได้รับการสั่งจ่ายจากแพทย์ก่อนใช้งาน ยาเมโทรนิดาโซลชนิดรับประทานใช้รักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และควรงดดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยารักษาและหลังรักษาเสร็จสิ้นอย่างน้อย 1 วัน เพื่อป้องกันผลข้างเคียง อย่างอาการมวนท้อง ปวดท้อง หรือคลื่นไส้อาเจียน
  • ยา Clindamycin (คลินดามัยซิน)
    • คือ ยาปฏิชีวนะชนิดหนึ่งที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยมีการใช้งานสำหรับรักษาโรคต่างๆ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ การติดเชื้อในช่องปาก และเหงือก การติดเชื้อในช่องท้อง การติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลางและอื่นๆ โดยมักจะใช้เมื่อมีการติดเชื้อที่รุนแรงหรือเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะชนิดอื่นได้ ยาชนิดนี้เป็นยาที่ต้องใช้โดยคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น เพราะอาจทำให้เสี่ยงเกิดผลข้างเคียงอย่างลำไส้ใหญ่อักเสบรุนแรงได้
  • ยา Tinidazole (ทินิดาโซล)
    • คือ ยาต้านเชื้อโปรโตซัว ออกฤทธิ์ทำลายดีเอ็นเอ หรือยับยั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ใช้รักษาภาวะพยาธิในช่องคลอด โรคติดเชื้อไกอาเดีย โรคบิดมีตัว และโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด นอกจากนี้ อาจนำไปใช้รักษาโรคหรือภาวะสุขภาพอื่นๆ ตามการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งยาตัวนี้มีผลข้างเคียงคล้ายยา Metronidazole ด้วยเช่นกัน จึงควรงดการดื่มแอลกอฮอล์ขณะใช้ยาเหมือนกัน

ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์ และไม่ควรหยุดใช้ยาด้วยตัวเอง หากยังไม่ครบกำหนดเวลา เพราะอาจเสี่ยงเกิดอาการดื้อยาได้ ซึ่งหลังการรักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียนี้ ช่วงระยะเวลา 3-12 เดือน อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งได้ ซึ่งแพทย์อาจรักษาต่อด้วยการจ่ายยา Metronidazole ในระยะยาว และผู้ป่วยอาจต้องรักษากับแพทย์นรีเวชโดยตรง เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

การป้องกันภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

การป้องกันภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย

เราสามารถป้องกัน และลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นที่มีค่า pH สมดุลและเหมาะสมกับอวัยวะเพศหญิง หรือเลือกใช้สบู่สูตรอ่อนโยน ไม่ควรมีสารเคมีหรือน้ำหอมที่มีกลิ่นฉุน หรือผ้าอนามัยที่ไม่มีส่วนผสมของน้ำหอม เพื่อป้องกันอาการระคายเคืองต่อบริเวณนั้นได้
  • ห้ามสวนล้างช่องคลอดโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้แบคทีเรียในนั้นเสียสมดุล และเกิดการติดเชื้อได้
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีความเสี่ยง เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
  • ให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าจะเป็นการสอดใส่ทางช่องทางใดก็ตาม

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เซ็กส์ประตูหลัง เสี่ยง HIV มากกว่า

CD4 ถูกทำลายจะเป็นอย่างไร ?

การมองข้ามเรื่องตกขาวที่ผิดปกติไม่ควรเป็นเรื่องง่ายๆ เพราะอาจทำให้ปีกมดลูกเกิดอาการอักเสบ ท่อนำไข่ตัน และเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูกสูงขึ้น หรือมีก้อนฝี หนองในอุ้งเชิงกรานได้ การติดเชื้อ หรือความไม่สมดุลในฮอร์โมนเพศอาจเป็นสาเหตุของตกขาวที่ผิดปกติ การรักษาต้องพบสูตินรีแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาอย่างถูกต้อง หากตรวจพบว่าเป็นการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ จะต้องให้การรักษาคู่นอนร่วมด้วย ดังนั้น หากพบว่ามีการตกขาวที่ผิดปกติใดๆ ควรมาพบสูตินรีแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างเหมาะสม